ทำงาน 10 ปี ไม่มีเงินเก็บ แกะรอยเงินฉันหายไปไหน
ทำงานมาหลายปี ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไร เงินหายไปไหนหมด?
อยากจะจัดการเงินให้เป็นระบบ จะเริ่มยังไงดี?
ปัจจุบันส่วนใหญ่เรียนจบปริญญาตรีจึงเริ่มทำงานอายุประมาณ 21-23 ทำงานผ่านไป 10 ปี เผลอไม่นานอายุขึ้นต้นด้วยเลข 3 รู้สึกตัวอีกที เงินหายไปไหนหมด เราทราบสาเหตุ ที่ผ่านมากลับไปแก้ไม่ได้ ก็ให้มันผ่านไป ทำได้ตอนนี้คือตั้งหลักเริ่มต้นใหม่
ตอนนี้อายุเท่าไร? จะทำงานถึงอายุเท่าไร? ยังมีเวลาอีกกี่ปีก่อนถึงวัยพักผ่อน?
บางคนอาจจะนึกถึงตัวเองว่า ฉันก็ไม่ได้ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ก็ไม่ได้แต่งตัว ทำไมฉันไม่ค่อยเหลือเหมือนกัน
บางคนอาจจะหวนคิดว่า เราก็เก็บเงินนะ เหตุไฉนถึงตอนนี้ไม่ได้ถึงไหนเลย
ถ้าเริ่มทำงานอายุ 22 ปี ตอนนี้อายุ 35 ปี ทำงานมา 13 ปี ตั้งใจทำงานถึงอายุ 60 ปี มีเวลาสร้างเนื้อสร้างตัวอีก 25 ปี ยังมีเวลาในการจัดระบบระเบียบการเงินของตัวเองได้ทันถ้าทราบสาเหตุ
สาเหตุที่ทำงานมา 10 ปี ไม่มีเงินเก็บเกิดจาก
1) เป้าหมายชีวิตไม่ชัดเจน เป้าหมายการเงินปกติจะล้อตามเป้าหมายชีวิต เป้าหมายชีวิตไม่ชัดเป้าหมายการเงินจึงเลือนรางไปด้วย ถ้าเราไม่มีเป้าหมายการเงิน การใช้ชีวิตเราจะเป็น
รายได้ = รายจ่าย
และวันหนึ่งเมื่อมีค่าใช้จ่ายจรก้อนใหญ่เข้ามา หรือออกงานกะทันหัน หรือมีคนในครอบครัวป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุหนัก สมการจะกลายเป็น
รายได้ = รายจ่าย + เงินกู้ยืม (ส่วนมากจะเป็นหนี้บัตรเครดิต)
2) ออมเงินไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม
- ออมไว้ในที่ ๆ ถอนง่าย
- ออมไว้ในที่ ๆ ผลตอบแทนน้อยกว่าเงินเฟ้อ
- ออมไว้ในที่ระยะเวลาออมสั้นเกินไป ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับไม่ต่อเนื่องและอาจจะนำไปใช้ระหว่างหาที่ออมใหม่
- แหล่งเงินออมนั้นมีการจ่ายผลตอบแทนออกมาระหว่างออม ในขณะที่ยังมีรายได้อยู่ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย เงินคืนตามเงื่อนไขจากประกันสะสมทรัพย์ ฯลฯ มักจะถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว เงินออกมาเหมือนเบี้ยหัวแตก เงินต้นไม่เติบโต
3) ไม่เคยฝึกบริหารเงินตอนเด็ก ผู้ปกครองให้เงินเป็นรายวัน
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ผู้ปกครองให้เงินไปโรงเรียนรายวัน กระทั่งเริ่มทำงาน part time หลังเลิกเรียน และตอนปิดเทอมก็ยังคงนำเงินเดือนไปให้ผู้ปกครอง และให้ท่านจ่ายให้เราเป็นรายวัน มีผลให้หลังเรียนจบต้องจัดการเงินเอง ทำงานผ่านไป 20 กว่าปี รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความมั่นคงเลย
ได้มาเรียนวิชาวางแผนการเงิน เห็นตัวเองชัดเจนว่าแทบไม่มีอะไรเลย เพราะชีวิตที่ผ่านมา รายจ่าย = รายได้
4) มีความคิดว่า วันนี้มีรายได้ดูแลพ่อแม่ ดูแลลูก หลังเกษียณลูกต้องดูแลเรา
ความเชื่อแบบนี้ทำให้ระหว่างที่มีรายได้ คิดว่าค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่เห็นความจำเป็นของการเตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
5) ไม่ต้องรับผิดชอบใคร และมีพ่อแม่หรือพี่ ๆ คอยช่วยเมื่อเงินไม่พอใช้
คนที่รู้สึกแบบนี้ ศักยภาพนอนหลับอยู่ภายใน การกินการใช้จ่ายจึงไม่คิดเผื่อเหลือสำหรับอนาคตหรือเพื่อชวยเหลือคนรอบตัว ในขณะที่คนทีต้องรับผิดชอบครอบครัวจะพยายามหารายได้ให้ได้มากจากศักยภาพภายในทีทำเพื่อคนที่ตัวเองรัก เขาจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และมีเงินออมมาก
6) แกะรอย...เงินหายไปไหน
เราจะแกะรอยเงินได้ เราจำเป็นต้องจดค่าใช้จ่ายทุกรายการที่จ่าย ทั้งที่ชำระด้วยบัตรเครดิตหรือเงินสด จดทุกวัน ซ้ำ ๆ ซัก 2-3 เดือน เราจะเริ่มเห็นตัวเอง เงินเราใช้ไปกับอะไรบ้าง
ค่าใช้จ่ายหลายที่เราไม่เคยรู้ตัวว่าจ่าย ค่าใช้จ่ายบางอย่างก็ไม่เคยรู้ว่าจริง ๆ จ่ายไปเท่าไร กระทั่งจดค่าใช้จ่ายจึงจะเห็น ตัวอย่าง เช่น
- กาแฟแก้วละ 60 บาท ทุกวันที่ไปทำงาน เดือนหนึ่งทำงาน 22 วัน จ่ายค่ากาแฟเดือนละ 1,320 บาท หรือปีละ 15,840 บาท
- เสื้อผ้าลดราคา และปกติซื้อไม่แพงเฉลี่ยแค่ตัวละ 2-300 บาทเอง ซื้อทีละ 4-5 ตัว ซื้อทุกเดือน ชอบใส่จริง ๆ ถูกใจไม่กี่ตัว จดรวมมาจริง ๆ อาจจะเป็นค่าเสื้อผ้าปีละหลายหมื่นบาท
- หนังสือดี ๆ ทั้งนั้น ซื้อ ซื้อ ซื้อ อ่านไม่ทัน เดือนเดือนมีค่าหนังสือ 4-5 พันบาททุกเดือน หมดค่าหนังสือปีละหลายหมื่น
- น้ำอัดลมกระป๋อง วันละ 2 กระป๋อง ๆ ละ 15 บาท เดือนละ 900 บาท ปีละ 10,800 บาท
- เบียร์วันละกระป๋อง ๆ ละ 35 บาท เดือนละ 1,050 บาท ปีละ 12,600 บาท
- อื่น ๆ อีกมากมาย ลองสังเกตตัวเอง อะไรที่จ่ายครั้งละไม่มาก และจ่ายบ่อย ๆ อาจจะนึกไม่ออกตอนนี้ ลองจดซัก 2 เดือน จะเห็นค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่จ่ายซ้ำ ๆ
เริ่มต้นอย่างไร จากนี้ไป 10 ปี มีเงินเก็บ?
บริหารรายรับรายจ่ายปัจจุบันให้มีเงินเหลือ โดยจดรายจ่ายทุกรายการที่จ่าย, ทำงบประมาณค่าใช้จ่ายเดือนละครั้ง แยกประเภทค่าใช้จ่าย ได้แก่ อาหาร ค่าเดินทาง ของใช้ในบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ ประมาณการก่อนใช้จ่าย เพื่อให้เห็นก่อนว่า มีเงินเหลือในมือเท่าไร ใช้ได้ไม่เกินเท่าไร
ทบทวนอีก 1-3 ปี มีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่อะไรที่จะเกิดขึ้น ในอีก 3-7 ปี ข้างหน้ามีค่าใช้จ่ายอะไร หรืออีก 7 ปี 10 ปี 20 ปี จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร เกษียณพักผ่อน เที่ยวยุโรป หรือทำธุรกิจ ค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างต้องเตรียมเงินเท่าไร บริหารรายได้ให้มีเงินเหลือนำไปลงทุนตามเป้าหมายการเงินต่าง ๆ (หรือค่าใช้จ่ายอนาคต)
ถ้าลดค่าใช้จ่ายแล้ว เงินออมยังไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมในอนาคต หาอาชีพที่ 2 ทำหลังจากเวลางานประจำหรือทำในวันหยุด อาชีพที่ 2 สำรวจดูงานอดิเรกที่ชอบทำ มีใครบ้างต้องการผลงานของเรา
จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เราทราบว่าเงินเราหายไปไหน คือการบันทึกค่าใช้จ่ายทุกรายการที่จ่าย มนุษย์ทุกคนมีความฉลาด มีคุณสมบัติในการปรับตัวได้อย่างยอดเยี่ยม เพียงมีข้อมูลรายการใช้จ่ายใช้ไปกับอะไรบ้าง จะเริ่มตัดค่าใช้จ่ายได้ แค่รู้ว่ามีเป้าหมายอะไรบ้างต้องเตรียมเท่าไร การตั้งใจจริงทำให้จากนี้อีก 10 ปี สามารถมีเงินเก็บได้ตามเป้าหมาย