Budgeting เสาเข็มแรก

Budgeting เสาเข็มแรก

 

     

      การทำงบประมาณหรือ Budgeting ศัพท์ดูหรู ที่รู้จักในการทำงบประมาณรายจ่ายบริษัท ดูเป็นทางการทำให้หลายคนรู้สึกว่าไกลตัว การทำงบประมาณ เป็นกำหนดตัวเลขประมาณการที่คาดว่าจะเป็นไปได้ของรายได้ ยอดค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท รวมถึงงบประมาณการออมด้วย

ขั้นตอนทำงบประมาณ

1. บันทึกงบประมาณรายได้ เป็นประมาณการรายได้ที่จะได้รับ

2. บันทึกงบประมาณรายจ่าย เป็นประมาณการรายจ่ายแต่ละหมวด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายผันแปร และเงินออมตามเป้าหมาย

3. เทียบงบประมาณรายรับและรายจ่าย ถ้าติดลบ ขยับปรับเปลี่ยนที่เงินออมและค่าใช้จ่ายผันแปรจนกว่าจะไม่ติดลบ

4. รายได้รวมหักรายจ่ายคงที่ จึงจะนำเงินที่เหลือมาทำงบประมาณรายจ่ายผันแปรและเงินออม

5. รายจ่ายต่าง ๆ นอกจากแยกในการบันทึกงบประมาณแล้ว “ต้องแยกเงินจริง ๆ” ด้วย

    • จ่ายเดือนละครั้งแยกเข้าบัญชีธนาคาร

    • รายจ่ายที่จ่ายบ่อย เดือนละหลายครั้ง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ แยกเงินออกมาใส่กล่องหรือซอง 

6. รายจ่ายที่จ่ายบ่อยให้บันทึกเทียบกับงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายเกินได้ตรงจุด

7. รายจ่ายที่จ่ายปีละครั้ง เช่น ค่าเบี้ยประกัน ค่าส่วนกลางหมู่บ้าน ฯลฯ นำค่าใช้จ่ายมาหาร 12 เสมือนจ่ายรายเดือน แต่ให้ออมใส่บัญชีธนาคาร*อีก 1 เล่ม จะไม่เป็นภาระเมื่อถึงงวดที่ต้องชำระ


      ขั้นตอนข้างต้นในการทำงบประมาณรายจ่ายวิธีนี้เป็นวิธีการแบบง่าย ๆนี้สามารถเริ่มต้นทำได้เลย พร้อม ๆ กับการบันทึกรายจ่าย  เมื่อเราเห็นค่าใช้จ่ายหมวดใดเกิน เดือนถัดไปแยกมาจดเป็นรายละเอียด จะเห็นรายการค่าใช้จ่ายที่เกินชัดเจนขึ้น

      ช่วงแรกงบประมาณที่ใกล้เคียงกับการใช้จ่ายจริง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงขยับขึ้นขยับลงได้ เนื่องจากระยะแรก ๆ ค่าใช้จ่ายบางรายการอาจจะถูกปรับเปลี่ยน ถ้าไม่เคยบันทึกรายจ่ายเลยใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน งบประมาณจะชัดเจนขึ้น

 

“การทำงบประมาณรายจ่ายจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับอาชีพที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ มากบ้างน้อยบ้าง 

การทำงบประมาณจะช่วยหยุดและป้องกันการเข้าสู่วงจรหนี้ครัวเรือนได้”

 

      การทำงบประมาณรายจ่ายจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับอาชีพที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ มากบ้างน้อยบ้าง จะช่วยหยุดและป้องกันการเข้าสู่วงจรหนี้ครัวเรือนได้ ถ้าไม่มีการทำงบประมาณกำกับการใช้จ่าย ในเดือนที่มีรายได้มากก็จะใช้มาก ในขณะที่เดือนที่มีรายได้น้อยรายได้ติดลบ จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย 

      การมีงบประมาณรายจ่ายที่ชัดเจน ในเดือนที่มีรายได้มากกว่างบประมาณรายจ่ายมาก ๆ ให้เก็บเงินส่วนเกินสำรองไว้ในเดือนที่มีรายได้เข้ามาน้อยกว่ารายจ่าย

      ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น แต่งงาน, มีลูกคนใหม่ ฯลฯ งบประมาณจะต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และแน่นอน เราจำเป็นต้องมีการบันทึกรายจ่ายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้โครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายรองรับรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

*ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเพียง 0.5-1.5% และเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% แนะนำให้สำรองเงินไว้ใน “กองทุนรวมตลาดเงิน” เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วเงินคลัง ได้ผลตอบแทนสุทธิเกือบ 2% ไม่เสียภาษี